เราควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอย่างไรดี

Last updated: 27 มี.ค. 2563  |  12131 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เราควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอย่างไรดี

                 น้ำมันเครื่อง  มันคืออะไร มันมีไว้ทำไม ทำไมเราต้องใช้มัน เราลองมาทำความรู้จักมันอย่างง่ายๆนะครับ ไม่ต้องวิชาการอะไรมากมาย เอาแต่เพียงเรานำไปใช้งานได้จริงและไม่โดนเค้าหลอกเป็นใช้ได้ครับ ผมก็จะพยายามใช้คำพูดง่ายๆ เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจง่ายที่สุด น้ำมันเครื่องก็คือสารหล่อลื่นชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ และได้มาจากการสังเคราะห์ขึ้นมา เครื่องยนต์มีความจำเป็นต้องมีน้ำมันเครื่องอยู่ในระบบตลอดเวลา มากไปก็ไม่ดีน้อยไปก็ไม่ได้ ต้องพอดีๆ ตามที่เค้ากำหนดไว้ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ที่ดีที่สุด ในเครื่องยนต์ของรถเรานั้นมีชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ และวัสดุอื่นๆมากมายหลายชิ้นส่วนที่มันจะต้องเคลื่อนที่เวลาเครื่องยนต์มันทำงาน การเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนต่างๆก็จะทำให้เกิดการเสียดสี ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนและการสึกหรอของชิ้นส่วนนั้นๆ เราต้องควบคุมการสึกหรอและความร้อนที่เกิดขึ้นให้มีน้อยที่สุด เพื่อให้อายุการใช้งานของเครื่องยนต์ในรถเรานั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน น้ำมันเครื่องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันการเสียหายของเครื่องยนต์ที่รุนแรง ซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีน้ำมันเครื่องเราควรตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนถ่ายอย่างสม่ำเสมอ

                    บางท่านอาจจะยังไม่เคยเห็นหรือรู้จักเจ้าน้ำมันเครื่องเลย ว่ามันมีหน้าตาอย่างไร ก็เอารูมาให้ดูด้วยนะครับ เวลาเรานำรถไปเปลี่ยนถ่ายเราจะได้ทราบว่านั้นคือน้ำมันเครื่อง

                                อันนี้ก็เป็นแค่เพียงตัวอย่างนะครับ

 นี้ก็เหมือนกัน หน้าตามันจะออกแนวนี้ทั้งหมดอาจจะแตกต่างจากกันตามสมควรเช่น สีของแกลลอน ลักษณะของแกลลอน จำนวนลิตรที่บรรจุ แต่สุดท้ายภายในก็จะเป็นสารหล่อลื่นเหมือนกัน แต่ความแตกต่างจริงๆมันอยู่ที่คุณสมบัติต่างๆ ของเจ้าตัวน้ำมันเครื่องที่บรรจุอยู่ภายในต่างหาก

                    ความแตกต่างของคุณสมบัติของน้ำมันเครื่อง ถูกแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก กำหนด เกรด หรือความสามารถ ของตัวน้ำมันเครื่อง เช่น ทนความร้อนได้เท่าไหร่ มีสารชะล้างทำความสะอาดเท่าไหร่เป็นต้น โดยกำหนดเป็น API แล้ว API คืออะไร API เป็นสถาบันหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อกำหนดคุณสมบัติของน้ำมันเครื่อง ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เช่น น้ำมันเครื่อง เอสโซ่ API SL กับ น้ำมันเครื่อง โททาล API SL ก็จะมีคุณสมบัติที่เหมือนกัน การกำหนดเช่นทำให้ง่ายต่อการจนจำและใช้งาน และยังมีอีกหลายสถาบันที่กำหนดคุณสมบัติเหล่านี้ แต่เราจะรู้จักและคุ้นเคยกับเจ้า API มากกว่า ส่วนที่ 2 กำหนด ความข้นใส หรือ SAE ก็เช่นเดียวกัน เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำหนดมาตรฐาน ความข้นใส ให้เหมือนกันทุกยี่ห้อของน้ำมันเครื่องที่วางขายในท้องตลาด และผู้ใช้จะได้จดจำได้ง่าย

                    API ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท คือประเภทแรกใช้กับเครื่องยนต์ เบนซิน ก็จะกำหนดโดยใช้อักษรตัว S แล้วตามด้วยคุณสมบัติ เช่น API SG, API SL, API SM เป็นต้น      

                    อักษรที่ตามหลังอักษร S ก็จะเป็นตัวระบุว่า น้ำมันเครื่องอันนี้มีคุณสมบัติอย่างไร จำง่ายๆ ก็ไล่ตั้งแต่ A, B, C………, L, M   ยิ่งถัดมามากเท่าไหร่ก็จะดีกว่าเก่าไปเรื่อยๆ เช่น API SM จะมีคุณสมบัติดีกว่า API SL   อีกประเภทจะใช้กับเครื่องยนต์ ดีเซล ก็จะกำหนดด้วยอักษรตัว C แล้วตามด้วยคุณสมบัติ เช่น API CC, API CF

 

                   ก็เช่นเดียวกันกับของเครื่องยนต์ เบนซิน อักษรที่ถัดมาเรื่อยๆ คุณสมบัติก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น API CI ก็จะมีคุณสมบัติดีกว่า API CH คิดว่าคงพอเข้าใจกันแล้ว แต่อย่ารู้ลึกลงไปว่าคุณสมบัติมันมีอะไรบ้างเลย เพราะมันจะทำให้เรางงและสงสัยมากกว่าเดิม

                                  ส่วนที่ 2 SAE  หรือ ค่าความข้นใส  SAE ก็เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเช่นเดียวกับ API เหมือนกัน ก็เพื่อที่จะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้ไม่สับสน ค่าความข้นใสกำหนดเป็นตัวเลข เช่น 10 ,20 ,30 หรือ 40 เป็นต้น ค่าตัวเลขนี้ยิ่งมีค่ามาก ความหนืดยิ่งมากหรือว่าข้นมากนั้นเอง ผมเองก็จำไม่ค่อยจะได้ รู้สึกว่าจะเรียกเป็น เซ็นติ-สโตก  คือหน่วยการวัดความข้นใส แต่อย่าไปใส่ใจมากเลยเราไม่ได้เอาไปสอบเข้าทำงานเสียเมื่อไหร่  เราจะเห็นเสมอกับตัวเลขที่บอกมาอยู่บนข้างแกลลอนน้ำมันเครื่อง

  จากตัวอย่าง ก็จะเห็นว่า SAE 10W-40 หมายความว่า น้ำมันเครื่องแกลลอนนี้มีความข้นมากที่สุดเท่ากับเบอร์ 40 และใสที่สุดเท่ากับเบอร์ 10 น้ำมันเครื่องที่กำหนดค่า SAE ในลักษณะนี้ เราเรียกว่า มัลติเกรด หรือเกรดรวม จะเป็นน้ำมันเครื่องส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน น้ำมันเครื่องชนิดนี้มีคุณสมบัติที่แปลกคือ เมื่อเครื่องยนต์เย็นหรือตอนสตาร์ทใหม่ๆ น้ำมันเครื่องจะใส อยู่ที่เบอร์ 10 แต่เมื่อเครื่องยนต์ร้อนแล้ว ค่าความข้นใสก็จะเปลี่ยนไปเป็น ข้นมากขึ้น อยู่ที่ระดับ เบอร์ 40 ก็เป็นคุณสมบัติที่ดีเพราะตอนเราสตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่ๆ น้ำมันเครื่อง จะต้องวิ่งขึ้นไปยังจุดสูงที่สุดและช่องที่เล็กที่สุดให้ได้เร็วที่สุดเพื่อลดการสึกหรอในจุดบอดเหล่านี้ให้ได้ดี แต่บางครั้งเราก็จะเห็นมีตัวเลขที่แตกต่างไปจากนี้เช่น 15W-40, 5W-30 เป็นต้น ก็จะมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

                  ปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆในเรื่องของน้ำมันเครื่อง เราจะเห็นได้ว่ามีทั้งน้ำมัน สังเคราะห์ และกึ่งสังเคราะห์   ก็เป็นอะไรที่ดีขึ้นแต่ก็ควรเลือกใช้ว่ามันเหมาะสมกับรถของเราหรือเปล่า เพราะราคาจะแพงกว่าปกติประมาณ 1-2 เท่า  บางครั้งเติมไปแล้วอาจทำให้กินน้ำมันเครื่องก็ได้ แต่หากต้องการใช้จริงๆ ผมว่าแค่กึ่งสังเคราะห์ก็พอแล้วครับ สิ่งที่ได้กลับมาเมื่อเราต้องจ่ายเพิ่มก็เห็นจะมีที่ชัดที่สุดก็คือ มันจะทำให้ระยะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเพิ่มมาขึ้น และตัวน้ำมันเครื่องเองก็จะทนความร้อนได้สูงขึ้น การคงสภาพของน้ำมันเครื่องดีกว่าน้ำมันปกติ ก็แล้วแต่ทุนทรัพย์นะครับหากมีมากก็ควรใช้แต่ถ้ามีน้อยก็ใช้แบบธรรมดาแต่เปลี่ยนถ่ายให้ตรงระยะ อย่าชอบเกินจะเป็นดีที่สุดครับ

                   เรื่องการเลือกใช้ผมแนะนำว่า ควรเลือกใช้ตามคู่มือของรถที่ให้มานะครับ จะมีบอกถึงเกรดและความข้นใสมาให้ บางทีก็จะระบุยี่ห้อมาเลยอันนั้นไม่จำเป็นครับ บางอย่างเชื่อได้ บางอย่างเป็นการโฆษณาแฝงครับ หากหาน้ำมันเครื่องตามเกรดที่ระบุไว้ในคู่มือไม่ได้จริงๆ แนะนำว่าให้เลือกเกรดที่สูงกว่ามาใช้แทนครับ อย่าใช้เกรดที่ต่ำกว่าก็ด้วยสารเคมีต่างๆที่ผสมอยู่ในน้ำมันจะทำให้เกิดเป็นตะกอนเมื่อนำมาผสมกัน ส่วนระยะการเปลี่ยนถ่ายโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้เปลี่ยนตามระยะทางการใช้งาน แต่ที่จริงแล้วควรจะดูตามเวลาการใช้งานด้วย เช่นรถที่วิ่งในกรุงเทพ รถติดมากระยะทางกว่าจะถึงกำหนดบางทีก็เป็นปีก็มี แต่เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักเพราะตอนรถติดเครื่องยนต์ก็ยังทำงานอยู่ ดังนั้นเราควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกๆ 6 เดือน แต่หากช่วงไหนมีการนำรถออกต่างจังหวัดบ่อย ก็ดูตามระยะทาง เพราะมันจะเกิดจากการใช้งานจริง ดังนั้นหากให้จำได้ง่ายๆ ก็ควรเปลี่ยนถ่ายอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ก็แล้วแต่ว่าอะไรจะถึงก่อนครับ
                     ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็เป็นการแนะนำอย่างง่ายๆ เพื่อที่ทุกท่านจะได้เข้าใจกันและนำไปใช้ได้จริง ก็เขียนจากประสบการณ์จริงจากการเป็นช่างมากว่า 20 ปี ก็คงจะพอเป็นแนวทางในการดูแลรถของเราเองให้ใช้งานได้นานเท่าที่เราต้องการครับ
หมี ดำเนิน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้