ระบบการจ่ายแก๊สในรถยนต์

Last updated: 8 ก.ย. 2551  |  35800 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ระบบการจ่ายแก๊สในรถยนต์

ระบบการจ่ายแก๊สให้กับเครื่องยนต์

                     ทราบกันบ้างหรือไม่ว่าระบบการจ่ายแก๊สให้กับรถของเราที่นำไปติดตั้งแก๊ส ไม่ว่าจะเป็น NGV หรือ LPG มันมีอะไรบ้าง เห็นช่างที่ติดตั้งบางร้านก็อธิบายให้ฟัง บางร้านก็ไม่อธิบายอะไรเลย บอกแต่เพียงราคาค่าติดตั้ง แล้วก็บอกว่าใช้ได้ครับ พอมีปัญหาขึ้นมาที่หลังเราก็งงนะซิ เพราะช่างกลับพูดไปอีกอย่าง ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่เสียเปรียบหรือเสียรู้ให้กับช่างที่จะติดตั้งแก๊สให้กับรถของเรา ลองมาศึกษาดูว่ามันมีอะไรบ้าง ผมก็จะอธิบายแบบง่ายๆนะครับ จะได้เข้าใจกันไม่ต้องไปจำอะไรมากมายให้ปวดหัว ไม่ต้องเน้นถึงวิชาการอะไรนักหนา เอาแบบอาจแล้วรู้เรื่องจะดีกว่า

                     ก่อนอื่นผมคงต้องเล่าไปถึงรถยนต์ที่เราๆท่านๆใช้กันก่อนว่า มันมีระบบการจ่ายเชื้อเพลิงแบบใดกันบ้าง เพราะมันเป็นพื้นฐานเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงก็เท่านั้นเอง ในรถยนต์ของเราแบ่งการจ่ายเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ได้เป็น 2 แบบ ใหญ่ๆคือ

                     1.ระบบคาร์บูเรเตอร์หรือระบบดูด ระบบนี้จะเป็นระบบป้อนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยและใช้มานาน(ประมาณช่วง ค.ศ. ๑๙๐๐ – ค.ศ. ๑๙๘๐) ทำหน้าที่ควบคุมและผสมอากาศกับเชื้อเพลิงก่อนที่จะป้อนเข้าไปยังห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การทำงานของคาร์บูเรเตอร์เริ่มจากเมื่อเครื่องยนต์หมุน จะก่อให้เกิดแรงดูดให้ส่วนผสมไหลเข้าห้องเผาไหม้ อากาศจะไหลเข้าคาร์บูเรเตอร์ผ่านช่องทางที่มีลักษณะเป็นคอคอดที่เรียกว่า เวนจูริ ทำให้ความเร็วของอากาศเพิ่มขึ้น และความดันที่บริเวณคอคอดจะมีค่าลดลง อากาศจะไหลผ่านลิ้นปีกผีเสื้อ ซึ่งลิ้นปีกผีเสื้อจะเปิดมากหรือน้อยตามการควบคุมของผู้ขับขี่ความดันอากาศที่คอคอดมีค่าต่ำกว่าที่ทางเข้าของคาร์บูเรเตอร์ มีผลทำให้อากาศที่อยู่เหนือระดับน้ำมันในห้องลูกลอย น้ำมันที่ไหลออกมาจะถูกทำให้เป็นละออง และเมื่อกระทบกับอากาศที่ไหลผ่าน ละอองน้ำมันก็จะผสมกับอากาศ แล้วไหลเข้าท่อไอดี และห้องเผาไหม้ต่อไป  
                      ซึ่งคาร์บูเรเตอร์ก็มีการพัฒนากันหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ที่วิศวกรออกแบบ และให้การจ่ายเชื้อเพลิงได้เพียงพอต่อความต้องการของเครื่องยนต์ และได้มีการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปอีกมากมายและพัฒนาจนไปถึงระดับควบคุมด้วยไฟฟ้า คงจะเคยได้ยินกันที่เค้าเรียกคาร์บูไฟฟ้านะครับ แต่ถึงอย่างไรการจ่ายเชื้อเพลิงแบบนี้ก็ไม่ค่อยแน่นอนเสียเท่าไหร่ ทำให้อัตราการสิ้นเปลืองมีมาก ในปัจจุบันเราแทบจะไม่เห็นรถรุ่นใหม่ๆ ผลิตออกมาโดยใช้การจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์เลย

                       2.ระบบฉีดหรือหัวฉีดน้ำมัน เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อทำให้การทำงานของเครื่องยนต์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิงรวมทั้งลดมลภาวะให้กับรถยนต์ที่ปล่อยออกมาด้วย การทำงานของระบบนี้ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆเริ่มจาก ระบบหัวฉีดแบบควบคุมด้วยกลไก ระบบหัวฉีดควบคุมด้วยระบบ อีเล็คโทรนิค แบบฉีดกลุ่ม(คือฉีดพร้อมกันทุกสูบ)  แล้วก็พัฒนามาเป็นแบบฉีดที่ละครึ่ง(คือหากมี 4 สูบ ก็จะจ่ายที่ 2 สูบ สลับกันไป) หรือแบบฮาฟกรุ๊ป  และก็พัฒนามาเป็นระบบฉีดเดี่ยว ตามจังหวะความต้องการของเครื่องยนต์ หรือ ซีเควนเชี่ยน  แบบนี้ก็จะเป็นการจ่ายเชื้อเพลิงเข้าไปที่ละสูบ ตามจังหวะการทำงานของเครื่องยนต์  ก็คงเข้าใจกันคร่าวๆนะครับ ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกมากนักเดียวงงไปกันใหญ่

                        เราจะเห็นได้ว่าระบบการจ่ายเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ในระบบแก๊สรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน ระบบการจ่ายแก๊สก็เปรียบเสมือนการจ่ายเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ เพียงแต่เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง แต่ก็ต้องเป็นไปตามความต้องการของเครื่องยนต์เหมือนกัน การพัฒนาระบบการจ่ายแก๊สให้กับรถยนต์ก็แบ่งได้เป็น 2 แบบ เช่นเดียวกัน คือ

1.ระบบดูดหรือ คาร์บูแก๊สหรือ ระบบมิกซ์ที่เรารู้จักนั้นเอง   ระบบนี้ก็มีหลักการทำงานเหมือนกับระบบคาร์บูน้ำมัน กล่าวคือจะใช้แรงดูดของเครื่องยนต์ไปกระตุ้นการจ่ายแก๊สออกมา โดยใช้หลักการเดียวกันที่ทำให้เกิดแรงดูดจากการไหลของอากาศนั้นเอง ระบบนี้จะมีอุปกรณ์ไม่มากนัก ที่เราเห็นกันบ่อยๆก็มี หม้อต้มหรืออุปกรณ์ลดแรงดันและเป็นตัวควบคุมการจ่ายแก๊สด้วย      
 มิกซ์หรืออุปกรณ์ที่ไปลดช่องอากาศที่จะไหลเข้าเครื่องยนต์เพื่อทำให้เกิดแรงดูดขึ้นมา เพื่อไปกระตุ้นตัวหม้อต้มนั่นเอง อุปกรณ์ไม่มากราคาในการติดตั้งเลยไม่แพงมาก ใช้ได้ทั้ง
LPG
และ NGV และในระยะหลังๆก็มีการนำอุปกรณ์อย่างอื่นเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้ระบบนี้มีการทำงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็ยังได้ไม่ดีเท่าที่ควร

                         2.ระบบฉีดหรือหัวฉีดแก๊สนั่นเอง     ระบบนี้จะมีการทำงานเช่นเดียวกับระบบการฉีดของน้ำมัน  ด้วยการเรียนแบบการฉีดของน้ำมันแล้วมาประมวลผลเพิ่มเติมที่กล่องควบคุมการฉีดแก๊สอีกครั้ง ให้แก๊สที่จ่ายออกมาเพียงพอต่อความต้องการของเครื่องยนต์ ในระบบการจ่ายแก๊สแบบนี้ข้อดีของมันคือมันจะจ่ายตามความต้องการจริงๆของเครื่องยนต์ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีกว่าระบบดูด แต่ก็มีราคาค่อนข้างแพง หากมองกันระยะยาวและความสะดวกในการใช้งานก็คุ้มค่าดีกว่าระบบดูดเสียอีก การดูแลรักษาก็ไม่ยากเย็นอะไร ค่อยตรวจสอบการรั่วก็เพียงพอแล้ว อย่างอื่นก็เหมือนเราใช้รถในระบบน้ำมันนั่นเอง

                         แล้วเราควรจะเลือกแบบไหนดีให้กับรถของเรา ผมแนะนำว่าควรที่จะเลือกให้เหมือนกับระบบการจ่ายเชื้อเพลิงเดิมของเครื่องยนต์ เช่นหากรถเราเป็นเครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ ก็เลือกเป็นแบบระบบดูด แต่หากรถเราเป็นระบบหัวฉีดน้ำมัน ในระบบแก๊สก็ควรที่จะเลือกเป็นระบบฉีดแก๊สเหมือนกัน เพราะมันจะทำให้การทำงานของเครื่องยนต์เป็นไปอย่างเหมาะสม และสะดวกสบายในการใช้งาน ก็คงจะฝากไว้คิดก่อนที่จะนำรถไปติดตั้งแก๊ส จะได้ไม่ถูกหลอกเอานะครับ

           หมี ดำเนิน

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้